วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวทางในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านแดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์

(จากเอกสารวิจัยเรื่อง "การศึกษาแนวทางในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านแดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ "ของนายสุรินทร์ แสงไทยทวีพร และ พันเอก สุรชิน กาญจนจิตติ  นักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 55  บทที่ 4 หน้า 60-76)



ส่วนที่ ๑. ความเป็นมาของโครงการ 

 

          ๑. ที่มาของโครงการ           

โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านแดงใหญ่ ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์นี้  ในเบื้องต้นเกิดขึ้นจากความต้องการของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง (นางกัลยา  คินาพิทย์) ที่ได้พิจารณาเห็นว่า บ้านแดงใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่มีที่สาธารณประโยชน์อยู่มากกว่า ๘๐๐ ไร่ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำในการทำการเกษตร แหล่งน้ำที่มีในพื้นที่ มี ๒ แหล่ง ได้แก่

๑.๑ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนิน  เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบ สำหรับการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านของราษฏร ๓ หมู่บ้าน การเติมน้ำลงสระใช้วิธีติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่โดยใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง สูบน้ำจากลำห้วยลำพังชูเข้าสู่สระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้านในช่วงฤดูฝน ดังนั้น จึงไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวมาใช้ในการเกษตรได้

๑.๒ ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน มีลำห้วยสำคัญไหลกั้นเขตแดนระหว่าง จ.บุรีรัมย์ และ จ.ขอนแก่น ชื่อลำห้วย ลำพังชู มีขนาดความกว้าง ๑๕.๐๐ – ๒๐.๐๐ เมตร ในฤดูฝนมีน้ำเต็มลำห้วย แต่ถึงช่วงฤดูหนาวปริมาณน้ำจะลดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงประมาณเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ น้ำในลำพังชูจะแห้งสนิท ไม่มีน้ำสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งได้

นายก อบต.พุทไธสง จึงได้นำแนวคิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ปรึกษาเพื่อหาแนวทางการใช้ประโยชน์กับพลังงานจังหวัดบุรีรัมย์(นายสุรินทร์  แสงไทยทวีพร)ในขณะนั้น และหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง และ บริษัท ไอด้าเทค จำกัด จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ในเมื่อแหล่งน้ำผิวดินไม่มี หรือมีไม่เพียงพอในการที่จะนำมาใช้เพื่อการเกษตร ก็สมควรทดลองหาแหล่งน้ำจากใต้ดินมาใช้ประโยชน์  จึงได้มอบหมายให้บริษัท ไอด้าเทค จำกัด จัดหาหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาลเข้ามาดำเนินการเจาะหาน้ำบาดาลในพื้นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๔ โดยในการเจาะบ่อบาดาล ครั้งแรกดำเนินการเจาะบ่อที่ความลึก ๖๐ เมตร ปรากฏว่า น้ำใต้ดินที่พบมีความเค็ม ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ จึงได้ดำเนินการหาสถานที่เจาะแห่งใหม่ ซึ่งห่างจากจุดแรกประมาณ ๑๐ เมตร แล้วดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล บ่อที่ ๒ โดยเจาะลงไปใต้ดินที่ความลึก ๓๖ เมตร ปรากฏว่า น้ำใต้ดินที่พบ เป็นน้ำจืด และทดลองสูบน้ำจากบ่อบาดาลดังกล่าว เป็นระยะเวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง พบว่า มีน้ำใต้ดินไหลขึ้นมาตลอดระยะเวลาการสูบน้ำ ซึ่งแสดงว่าน้ำใต้ดินมีปริมาณมากเพียงพอ โดยระดับน้ำใต้ดินคงที่อยู่ที่ระดับ ๒๐ เมตร และได้นำน้ำไปทดสอบในห้องทดลองพบว่า น้ำมีความจืด ปราศจากสิ่งเจือปน สามารถใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตรได้ จากการประมาณการ ปริมาณน้ำนี้สามารถปลูกผักสวนครัวได้ประมาณ ๒๐ ไร่ จากการประมาณการเบื้องต้นของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง ต้องใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (ไม่รวมแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัดบุรีรัมย์จะให้การสนับสนุน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย)  จึงได้แจ้งผลดำเนินการให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและดำเนินการในขั้นตอนการรวมกลุ่มผู้สนใจ เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ต่อไป 

๒. การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ

การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ  หลังจากที่ได้สำรวจพบแหล่งน้ำใต้ดินที่มีปริมาณมาก และมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว หน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง สำนักงานพลังงานจังหวัดบุรีรัมย์ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง จึงได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ เผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบทั่วกัน โดยมีสาระสำคัญได้แก่ ทางราชการจะจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษขึ้น โดยใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ จำนวน ๒๐ ไร่ จัดสรรแบ่งแปลงให้สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษที่จะจัดตั้งขึ้น จำนวนไม่เกิน ๔๐ ครอบครัว ๆละ ๒ งาน ( ๑/๒ ไร่) แต่ทางราชการไม่มีงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ ฉะนั้น ผู้ที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ จะต้องร่วมกันกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อดำเนินโครงการตามประมาณการ (ที่จะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป) โดยจากการออกแบบเบื้องต้นและประมาณการ โดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง พบว่า สมาชิกแต่ละครอบครัวที่จะเข้าทำประโยชน์ จะต้องกู้เงินจากธนาคาร ธกส. ครอบครัวละประมาณ ๑๙,๐๐๐.- บาท รวมเป็นเงินกู้จำนวน  ๗๔๑,๐๐๐ บาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการต่อไป และจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงรายละเอียดโครงการ รวมถึงรับสมัครสมาชิกกลุ่ม จำนวน ๓ วัน ได้สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษในเบื้องต้น จำนวนทั้งสิ้น ๓๙ ราย จากจำนวนสมาชิกปัจจุบันจำนวน ๔๑ ราย ( รายที่ ๔๐ - ๔๑ รับเพิ่มภายหลัง ไม่ได้ร่วมกู้ธนาคาร ธกส.ด้วยตั้งแต่ต้น แต่ได้จ่ายเงินให้แก่กลุ่มภายหลัง จำนวนรายละ ๒๐,๐๐๐ บาท) และสมาชิกได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” รวมถึงเลือกประธานกลุ่ม ได้แก่ นายประดิษฐ์ จันอาภาท ผู้ใหญ่บ้านแดงใหญ่ หมู่ที่ ๑๓ และประธานเลือกคณะกรรมการฯ จากนั้นคณะกรรมการฯจึงได้ดำเนินการจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กับสำนักงานเกษตรอำเภอพุทไธสง และดำเนินกิจกรรมการกู้เงินจากธนาคาร ธกส. สาขาพุทไธสง ต่อไป

๓. การออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ การปรับแต่งและแบ่งแปลงที่ดิน
การดำเนินการในขั้นตอนนี้ ดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนที่ ๑ โดยทีมงานได้มอบหมายให้ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขา พุทไธสง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการจัดสร้างแปลงผัก ได้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ การปรับแต่งและแบ่งแปลงที่ดิน โดยได้ดำเนินการออกแบบและประมาณการเบื้องต้นไว้ รายละเอียดแจ้งตามรูปที่ ๔-๑  และตารางที่ ๔-๑ และจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงรายละเอียดโครงการ รวมถึงรับสมัครสมาชิกกลุ่ม จำนวน ๓ วัน ได้สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษในเบื้องต้น จำนวนทั้งสิ้น ๓๙ ราย ดังนั้น ในเบื้องต้นแต่ละครอบครัวจะต้องลงทุน จำนวน ๑๙,๐๐๐ บาท และเมื่อดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแล้วเสร็จ ประธานกลุ่มจึงดำเนินการเรื่องการกู้เงินจากธนาคาร ธกส. สาขาพุทไธสง และจากการพิจารณารายละเอียดโครงการ พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ  ธนาคาร ธกส. สาขาพุทไธสง ได้พิจารณาอนุมัติให้สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กู้ได้รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยส่วนที่เกินเผื่อไว้สำหรับสมาชิกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ก่อนที่การปลูกผักปลอดสารพิษจะสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก เมื่อได้เงินลงทุนเพื่อดำเนินโครงการมาจาก ธนาคาร ธกส. แล้ว จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป


             รูปที่ ๔-๑  การออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ การปรับแต่งและแบ่งแปลงที่ดิน


๔. ประมาณการเบื้องต้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ




๔.๑ ค่าเจาะบ่อน้ำบาดาล                                      ๖๐,๐๐๐      บาท

๔.๒ ค่าปรับพื้นที่                                                ๔๐,๐๐๐      บาท

๔.๓ ค่าวัสดุ-อุปกรณ์ก่อสร้าง ต่างๆ                         ๓๙๕,๖๔๐      บาท

๔.๓.๑ ถังเก็บน้ำ ๒๐,๐๐๐ ลิตร , เดินท่อเข้าถัง

๔.๓.๒ เดินท่อเมนจ่ายน้ำ ,ตั้งโอ่งเก็บน้ำ+ลูกลอย

๔.๓.๓ ท่อจ่ายน้ำเข้าแปลงและก๊อกน้ำต่างๆ

๔.๓.๔ ค่าแรงงาน ฯลฯ

๔.๔ ค่าติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ค่าเครื่องสูบ   ๑๕๗,๙๖๐        บาท

      น้ำ,ค่าระบบควบคุม,ค่าวัสดุ-อุปกรณ์ไฟฟ้า

๔.๕ อบรมให้ความรู้ด้านการเกษตร                        ๑๕,๐๐๐        บาท

๔.๖ ค่าเมล็ดพันธุ์                                              ๓๔,๔๐๐        บาท

๔.๗ ค่าใช้จ่ายอื่น                                              ๓๗,๐๐๐        บาท

                                              รวมเป็นเงิน                  ๗๔๐,๐๐๐        บาท

                                                                 ( เจ็ดแสนสี่หมื่นบาทถ้วน )

ตารางที่ ๔.๑ แสดงประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเบื้องต้นตามแบบร่าง



๕. การนำน้ำใต้ดินมาใช้ในการเกษตรโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์

๕.๑ เมื่อกลุ่มฯได้รับเงินจากธนาคาร ธกส. สาขาพุทไธสงแล้ว ได้มอบหมายให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง ดำเนินการจัดหาเครื่องจักรเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการ เพื่อปรับเกลี่ยแต่งสภาพที่ดินเดิม ที่มีสภาพเป็นหลุม เป็นบ่อ ไม่เรียบ ดำเนินการไถปราบ ตัดฟันต้นวัชพืชต่างๆ ไถเปิดหน้าดินที่เป็นหินผุ ดินลูกรัง และหน้าดินแข็ง ที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ดันไปกองไว้ตามแนวที่กำหนดให้เป็นถนนภายในโครงการ แล้วจัดหาหน้าดินที่ดี มาปรับเกลี่ยแต่งให้ทั่วบริเวณที่กำหนดให้เป็นบริเวณแปลงเกษตร ตามแบบก่อสร้างที่มีการปรับเล็กน้อยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

๕.๒ มอบหมายให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสง ร่วมกับกลุ่มฯ จัดหาวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นต้องใช้ตามประมาณการ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง

๕.๒.๑ ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๐๐ เมตร สูง ๘.๐๐ เมตร ความจุ ๒๐ ลูกบาศก์เมตร ( ๒๐,๐๐๐ ลิตร )

๕.๒.๒ วางผังเพื่อกำหนดแนวถนน, แบ่งแปลงเกษตรตามจำนวนที่ต้องการ, กำหนดพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ร่วมกัน สำหรับเป็นที่รับประทานอาหาร รับคณะศึกษาดูงาน บรรยายสรุป จัดนิทรรศการ

๕.๒.๓ วางระบบท่อส่งน้ำจากบ่อน้ำบาดาลไปยังถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว และ วางระบบท่อจ่ายน้ำจากถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. ไปตามแนวถนนในโครงการ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้ว รวมถึงวางท่อจ่ายน้ำขนาด ๓/๔ นิ้ว ไปยังโอ่งเก็บน้ำความจุ ๕๐๐ ลิตร

๕.๒.๔ ติดตั้งโอ่งเก็บน้ำความจุ ๕๐๐ ลิตร บนวงท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๘๐ เมตร จำนวน ๔๐ ใบ เพื่อเป็นที่เก็บน้ำสำหรับรดพืชผลการเกษตร

๕.๒.๕ ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด ๕๓ วัตต์ จำนวน ๓๖ แผ่น รวมกระแส ๑,๙๐๘ วัตต์ พร้อมระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ

๕.๒.๖ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้ากระแสตรง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้ว ติดตั้งลึกจากผิวดิน ๒๐ เมตร และเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า รวมถึงระบบท่อน้ำจนแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน

๕.๒.๗ มอบหมายให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาพุทไธสงจัดอบรมให้ความรู้เบื้องต้นแก่สมาชิก ในเรื่องการปลูกผักสวนครัว การทำเกษตรปลอดสารพิษ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ การใช้จุลลินทรีย์ EM ฯลฯ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างคุ้มค่าและ ประหยัด รวมถึงการจัดหาเมล็ดพันธุ์ผักให้สมาชิก

๕.๒.๘ เมื่อทุกระบบสมบูรณ์ครบถ้วน น้ำจากใต้ดินถูกดึงขึ้นมาสู่ถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. และถูกกระจายไปยังแปลงเกษตรโดยเก็บไว้ในโอ่งเก็บน้ำ พร้อมใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ และเมื่อสมาชิกผ่านการอบรม มีความรู้เบื้องต้นในการจัดการแปลงเกษตรแล้ว จึงดำเนินขั้นตอนการเลือกแปลงของสมาชิกแต่ละคน วิธีการที่ใช้ได้แก่วิธีการจับฉลากเลือกแปลง เมื่อได้แปลงของตนเองแล้ว สมาชิกจึงเริ่มต้นทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่ ตามชนิดที่สมาชิกเลือกที่จะปลูกตามความถนัดหรือตามความสนใจ โดยเริ่มเข้าทำการเกษตรในแปลงประมาณปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔

            ๖. การบริหารจัดการน้ำ

เมื่อสมาชิกเริ่มเข้าทำประโยชน์ในแปลงเกษตรแล้ว มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้น้ำร่วมกัน เพื่อให้น้ำที่มีปริมาณจำกัด เพียงพอต่อการใช้ในการทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอสำหรับสมาชิกทุกคน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การบำรุงรักษาระบบ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บเงินเข้ากองกลางของกลุ่ม เพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของกลุ่ม ดังนี้

๖.๑ หลักเกณฑ์การใช้น้ำและการบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์ โดยกำหนดให้สมาชิกถือปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้

๖.๑.๑ เนื่องจากน้ำใต้ดินที่นำขึ้นมาเพื่อการเกษตรมีปริมาณจำกัด จึงห้ามสมาชิกนำน้ำไปทำนา-ปลูกข้าว หรือ เพาะปลูกพืชใดๆที่ใช้น้ำมาก เช่น การปลูกบัว ผักกะเฉดฯ ในพื้นที่แปลงเกษตรของสมาชิก เพราะใช้น้ำมาก อาจส่งผลให้สมาชิกอื่นมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

๖.๑.๒ เนื่องจากในเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้าซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มีแสงแดด แผงพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้าไม่ได้ จึงไม่มีน้ำจากใต้ดินไหลขึ้นมา แต่เป็นเวลาที่สมาชิกใช้น้ำมากที่สุด ขณะเดียวกันในเวลากลางวัน น้ำใต้ดินจะไหลขึ้นมาจากใต้ดินเป็นปริมาณมาก เนื่องจากแสงแดดมีปริมาณมาก แผงพลังงานแสงอาทิตย์จึงผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก จึงได้น้ำใต้ดินปริมาณมาก แต่มีการใช้น้ำน้อยถึงไม่ใช้เลย ฉะนั้น เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ สมาชิกต้องเปิดน้ำเติมใส่โอ่งให้เต็มไว้ทุกวัน หากน้ำจากถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. หมดลง ยังสามารถใช้น้ำสำรองจากโอ่งได้

๖.๑.๓ กรณีฤดูกาลใดที่ไม่มีแสงแดด หรือแสงแดดอ่อน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอต่อการสูบน้ำ อาจต้องใช้กระแสไฟฟ้าจากภายนอกเสริม เพื่อให้กลุ่มมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างพอพียง และต้องมีการชำระค่ากระแสไฟฟ้า สมาชิกทุกคนยินยอมชำระค่ากระแสไฟฟ้ารายละเท่าๆกัน หรือ อาจนำเงินกองทุนส่วนกลางมาใช้ในการชำระค่ากระแสไฟฟ้าก็ได้ 

๖.๑.๔ อุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวม ได้แก่ ท่อเมนจ่ายน้ำ ถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. แผงพลังงานแสงอาทิตย์ สมาชิกต้องช่วยกันดูแลรักษา เพราะหากชำรุด เสียหาย สมาชิกจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ

๖.๑.๕ วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนตัวสมาชิก ได้แก่ โอ่งเก็บน้ำ ท่อจ่ายน้ำ ลูกลอยปากโอ่ง ก๊อกน้ำฯ สมาชิกมีหน้าที่ดูแลให้ใช้งานได้ดี หากเกิดการชำรุดเสียหาย ให้สมาชิกมีหน้าที่ซ่อมแซม จนสามารถใช้งานได้เช่นเดิม

๖.๒ หลักเกณฑ์การเก็บเงินเข้ากองกลางของกลุ่มเพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของกลุ่ม ได้แก่

๖.๒.๑ กองทุนที่ ๑ กองทุนส่วนกลางเพื่อการซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ส่วนรวม เก็บจากสมาชิกรายละ ๒๐ บาท/เดือน สะสมไว้ใช้สำหรับการซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ส่วนรวม ได้แก่ ท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ เครื่องสูบน้ำ เป่าล้างบ่อบาดาล แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบควบคุม ฯลฯ

๖.๒.๒ กองทุนที่ ๒ กองทุนส่วนกลางเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของสมาชิก เช่น ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก งานเลี้ยงปีใหม่เฉพาะสมาชิก งานบวช ฯลฯ เก็บได้จากคณะที่มาศึกษาดูงาน จากค่าตอบแทนวิทยากร  และเก็บจากกำไรค่าอาหารว่าง ค่าอาหารกลางวัน ซึ่งสมาชิกประกอบเลี้ยงคณะที่มาศึกษาดูงาน โดยจ่ายให้สมาชิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนหนึ่ง และหักส่วนหนึ่งเข้ากองทุน

     ๖.๒.๓ กองทุนที่ ๓ กองทุนกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมของสมาชิก และให้สมาชิกกู้เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน โดยสมาชิกต้องออมเงินขั้นต่ำ ๑๐๐ บาท/เดือน หรือมากกว่า เป็นประจำทุกเดือน และให้สมาชิกกู้เท่าที่จำเป็น โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อเดือน รายได้จากดอกเบี้ยจะปันผลให้แก่สมาชิกปีละ ๑ ครั้ง

๗. การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน

การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน จะแบ่งเป็น ๒ ช่วง ได้แก่

๗.๑ การสนับสนุนช่วงที่ ๑  ระหว่างการจัดตั้งและก่อสร้างโครงการ มีหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้การสนับสนุนโครงการ หลายหน่วยได้แก่

๗.๑.๑ สำนักงานพลังงานจังหวัดบุรีรัมย์ ให้การสนับสนุน การวางแผนงาน/โครงการ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ การเป็นที่ปรึกษาโครงการ ช่วยการติดต่อประสานการปฏิบัติ และ ให้การสนับสนุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์(ใช้แล้ว) ขนาด ๕๓ วัตต์ จำนวน ๓๖ แผ่น

๗.๑.๒ ธนาคาร ธกส. สาขาพุทไธสง เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะได้อนุมัติเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการ โดยโครงการของสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในลักษณะเช่นนี้ ธนาคาร ธกส. ยังไม่เคยอนุมัติเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะนี้เลย ฉะนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการแรกที่ ธนาคาร ธกส. อนุมัติโครงการ

๗.๑.๓ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือการปฏิบัติของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษได้เป็นอย่างมาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจัดเตรียมเอกสารการกู้เงินจากธนาคาร ธกส. และ การออกแบบ-ประมาณการรายละเอียดโครงการ รวมถึง การดำเนินการก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้สมาชิกเข้าทำประโยชน์ได้ โดยไม่มีผลตอบแทนใดๆ

๗.๑.๔ องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง เป็นเจ้าของแนวคิดการที่จะให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินสาธารณประโยชน์  ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และ อบต.พุทไธสงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ จำนวน ๓๔,๔๐๐ บาท

๗.๒ การสนับสนุนช่วงที่ ๒  หลังจากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ

๗.๒.๑ สำนักงานพลังงานจังหวัดบุรีรัมย์นำสื่อมวลชนผู้ผลิตรายการ องค์พระประทีปแห่งการพลังงานไทย ถ่ายทำรายการ และนำไปออกอากาศ ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๕ และ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการโดยเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์) มาเยี่ยมชมโครงการและมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่สมาชิกกลุ่มทุกคน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๕

๗.๒.๒ องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง ให้การสนับสนุนโดยการจัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับสมาชิกกลุ่มในการร่วมต้อนรับคณะที่มาศึกษาดูงาน สนับสนุนเต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ยานพาหนะขนย้าย รวมถึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง (นางกัลยา คินาพิทย์) สละเวลามาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่คณะที่มาตรวจเยี่ยม/ศึกษาดูงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนงบประมาณขุดลอก

๗.๒.๓ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ให้การสนับสนุนเงินเพื่อก่อสร้างถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. ความจุ ๒๐,๐๐๐ ลิตรเพิ่มอีกหนึ่งถัง เนื่องจาก ภายหลังจากที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ ปรากฏว่า ในเวลากลางวันระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาในปริมาณมากเกินกว่าที่ถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. และ โอ่งจะสามารถเก็บได้  จึงต้องสร้างที่เก็บน้ำเพิ่ม

๗.๒.๔ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพุทไธสง พิจารณาส่งบ้านแดงใหญ่เข้าประกวด หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พออยู่ พอกิน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนม์พรรษา ๘๔ พรรษา และ ชนะเลิศการประกวดได้รับรางวัลโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประจำปี ๒๕๕๔ และจัดพาผู้นำชุมชนมาศึกษาดูงาน

๗.๒.๕ สำนักงานเกษตรอำเภอพุทไธสง จัดการฝึกอบรม ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปลูกพืช GMP ให้แก่สมาชิกกลุ่ม รับขึ้นทะเบียนกลุ่มปลูกพืช GMP และสนับสนุนปัจจัยการผลิต

๗.๒.๖ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดบุรีรัมย์ ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงภายในจังหวัด จัดให้มีการสัมภาษณ์สดผ่านสถานีวิทยุจากแปลงเกษตร

๗.๒.๗ จังหวัดบุรีรัมย์สนับสนุนงบประมาณขุดลอกสระเก็บน้ำดิบของหมู่บ้าน สำหรับการใช้เป็นที่สำรองน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน ในคราวที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายคณิต เอี่ยมระหงส์) ตรวจเยี่ยมโครงการ เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕ และ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายอภินันท์ จันทรังษี) ช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการ รวมถึงการที่โครงการสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ โดยเชิญรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ    (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) มาตรวจเยี่ยมโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเมื่อวันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

๗.๒.๘ อำเภอพุทไธสงสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างหลังคาคลุมลานเอนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับ/ฟังบรรยายสรุป คณะที่มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ แปลงผักปลอดสารพิษด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

๘. ความสำเร็จของโครงการ

ตั้งแต่สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บ้านแดงใหญ่ เข้าดำเนินการทำประโยชน์ในแปลงเกษตรของโครงการ เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็นต้นมา แปลงเกษตรแห่งนี้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน และผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีคณะขอเข้าศึกษาดูงานเป็นประจำทุกสัปดาห์ ความสำเร็จของโครงการนี้ สามารถพิจารณาได้จากหลายด้าน ดังนี้

๘.๑ ด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จากการลงพื้นที่แปลงเกษตรเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยพบว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็นต้นมา แปลงเกษตรของสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก โดยมีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรของสมาชิกได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูแล้งที่พื้นที่ทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ประกาศภัยแล้งทั้งหมดแล้วก็ตาม อันทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า บ่อน้ำบาดาลที่มีศักยภาพเพียง ๑ บ่อ สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกถึง ๔๐ ครอบครัว , พื้นที่ที่แต่เดิมรกร้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า , สมาชิกกลุ่มซึ่งว่างงานหลังฤดูทำนา สามารถมีงานทำและมีรายได้ทั้งปี

๘.๒ ด้านเศรษฐกิจ สมาชิกกลุ่มมีงานทำ มีรายได้จากแปลงเกษตรเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท ตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับเงินที่สมาชิกลงทุน ๒๐,๐๐๐ บาทแล้วจะเห็นได้ว่า สมาชิกสามารถคุ้มทุนในระยะเวลาเพียง ๔ – ๕ เดือน ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุนมาก , สมาชิกมีรายได้เสริมจากการรับจ้างทำอาหารว่าง-อาหารกลางวัน จำหน่ายให้กับคณะที่มาศึกษาดูงาน , มีรายได้จากค่าตอบแทนวิทยากร และ สามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่คณะที่มาศึกษาดูงานได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป เพราะ ไม่มีค่าขนส่งและไม่ต้องให้กำไรแก่พ่อค้าคนกลาง

๘.๓ ด้านสังคม สมาชิกเกิดความภาคภูมิใจ จากแปลงเกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ แห่งแรกของประเทศ มีผู้ขอมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง มีบุคคลสำคัญตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับจังหวัด ระดับกระทรวง จนถึงระดับประเทศ , สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกจากการเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงาน ,เป็นที่ยอมรับจากผู้ที่มาศึกษาดูงาน มีความน่าเชื่อถือทางสังคมสูงขึ้น, สร้างงานให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น สามารถลดการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองได้ , ทำให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดเป็นครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง ในที่สุด

               ๘.๔ ด้านวัฒนธรรม สมาชิกมีความสามัคคคี ร่วมมือ ร่วมใจกันทำกิจกรรมพัฒนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดถนนภายในหมู่บ้าน การร่วมกันทำความสะอาดลานวัด มีการจัดกิจกรรมการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นงานบวช งานบุญบั้งไฟ งานฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ร่วมการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และ การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ฯลฯ ซึ่งการร่วมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของหมู่บ้านให้ยืนยาว และถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี

               ๘.๕ ด้านสิ่งแวดล้อม แปลงผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มฯแห่งนี้ นับได้ว่า เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้นแบบที่ยังไม่เคยมีชุมชนใดทำมาก่อน การที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ เป็นการลดใช้พลังงานที่ได้มาจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ฯ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นต้นเหตุของ การเกิดสภาวะโลกร้อน การที่กลุ่มเลือกที่จะปลูกผักปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อแมลงธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม  และ ยังลดการใช้พลังงานจากกระบวนการผลิตยาฆ่าแมลง และผลิตสารเคมีลงได้ทางอ้อมอีกด้วย

๙. การขยายผลโครงการ

จากการที่มีคณะมาศึกษาดูงานแปลงผักปลอดสารพิษ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง มีชุมชนและส่วนราชการนำวิธีการเช่นเดียวกันกับบ้านแดงใหญ่ ไปขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างได้ผล จำนวน ๒ แห่ง ดังนี้

๙.๑ กลุ่มเกษตรกรบ้านเกษตรสมบูรณ์ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ได้มาศึกษาดูงาน ณ แปลงเกษตรบ้านแดงใหญ่ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ นำโดยนายภูมิพัฒน์ พันธุ์พิศ ผู้ใหญ่บ้านพร้อมคณะ จำนวน ๗๐ คน โดยมีนายประดิษฐ์ จันอาภาท ผู้ใหญ่บ้านแดงใหญ่และสมาชิกกลุ่มให้การต้อนรับ ซึ่งคณะเกษตรกรบ้านเกษตรสมบูรณ์ ได้รับความประทับใจจากการศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก และได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ กลับไปสร้างแปลงเกษตรโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำบาดาล โดยเริ่มดำเนินโครงการประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเข้าทำประโยชน์ในแปลงเกษตรได้ประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๕๕๖ รายละเอียดตามรูปที่แสดง (ภาพแรกถ่ายเมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ภาพที่เหลือถ่ายเมื่อ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภายในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ กลุ่มเกษตรกรบ้านเกษตรสมบูรณ์สามารถเพาะปลูกผักสวนครัวได้ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่แล้งที่สุดของปีได้เช่นเดียวกับบ้านแดงใหญ่ ซึ่งทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำบาดาลสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชุมชนได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม



๙.๒ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโรงเลื่อย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนและ นายก อบต.ละหานทราย ได้นำคณะจำนวน ๕๐ คนมาศึกษาดูงาน ณ แปลงเกษตรบ้านแดงใหญ่ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ และได้ตั้งงบประมาณของ อบต. ละหานทราย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน   ในอดีตที่ผ่านมาปัญหาของโรงเรียนคือ การประสบปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรตามโครงการอาหารกลางวัน ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้นักเรียนใช้บริโภคตามโครงการอาหารกลางวันได้อย่างเพียงพอ ได้เคยร้องขอต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรเข้ามาในโรงเรียน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งภายในโรงเรียนได้ เนื่องจาก เมื่อแหล่งน้ำต้นทาง(เขื่อน)ปล่อยน้ำมาเพื่อให้โรงเรียน ปรากฏว่า ราษฏรที่มีที่ดินติดกับคลองส่งน้ำสายหลัก ได้เปิดบานประตูน้ำเพื่อรับน้ำจากคลองส่งน้ำสายหลักเป็นจำนวนมาก ตลอดความยาวตามแนวลำคลองสายหลัก ทำให้น้ำมาไม่ถึงโรงเรียนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก่อนดำเนินโครงการ คลองส่งน้ำภายในโรงเรียนมีสภาพแห้ง ไม่มีน้ำอยู่ในลำคลองเลย เมื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ณ โรงเรียน ตชด.บ้านโรงเลื่อย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์แล้ว โดยดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำ จากบ่อน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งขุดเจาะอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ ผลการดำเนินการพบว่า น้ำจากบ่อน้ำบาดาลสามารถไหลได้ตลอดทั้งวัน เป็นประจำทุกวัน ทำให้คลองส่งน้ำภายในโรงเรียนที่จากเดิมไม่มีน้ำ สามารถมีน้ำเต็มคลองได้ภายในระยะเวลาเพียง ๔-๕ วัน และจากการลงพื้นที่โรงเรียนเพื่อสังเกตการณ์และบันทึกภาพเพื่อประกอบการวิจัย เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ พบว่า มีน้ำเต็มคลองส่งน้ำคอนกรีต ตลอดแนวความยาวคลอง และล้นไปจนถึงบ่อดินของโรงเรียนบริเวณด้านหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ระบบสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งของโรงเรียนให้หมดไปภายในระยะเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์เท่านั้น ตามภาพ




ส่วนที่ ๒ การวิเคราะห์โครงการ

 

         ๒.๑ การวิเคราะห์โครงการโดย SWOT Analysis  

    ๑.จุดแข็ง (Strengths)    

   ๑.๑ สอดคล้องกับหลักแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

   ๑.๒ พลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพสูง และไม่เสียค่าใช้จ่าย

   ๑.๓ ปริมาณน้ำบาดาลที่สูบมาใช้เพื่อการเกษตรมีปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปี

   ๑.๔ ชุมชนและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้มแข็ง   

   ๑.๕ มีการสร้างรายได้ให้สมาชิกได้ตลอดทั้งปี จากการสัมภาษณ์เชิงลึกสมาชิกโครงการพบว่า สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย ๕,๐๐๐ บาท/เดือน ตลอดทั้งปี

   ๑.๖ นโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนพลังงานทดแทน

   ๑.๗ ส่วนราชการให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน จากการสัมภาษณ์ ผู้ว่าราชการจังวัดบุรีรัมย์พบว่า จังหวัดได้กำหนดให้โครงการฯ เป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนต่อไป

   ๑.๘ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนจากการสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่บ้านแดงใหญ่พบว่า ผู้นำท้องถิ่นทุกระดับให้การสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการต่อไป

   ๑.๙ ประชาชนในท้องถิ่นไม่ต่อต้านเนื่องจากไม่ได้แย่งแหล่งน้ำของชุมชน จากการสัมภาษณ์ และสังเกตประชาชนในพื้นที่ ไม่ต่อต้านการดำเนินโครงการ เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้ทำการเกษตรของโครงการเป็นน้ำบาดาล ไม่ได้นำแหล่งน้ำของชุมชนมาใช้ ดังนั้นจึงไม่เกิดความขัดแย้งในชุมชน

   ๑.๑๐ มีการบริหารทรัพยากรในพื้นที่อย่างคุ้มค่า จากการสัมภาษณ์สมาชิกของโครงการบางคน ทำนาอีกทางหนึ่ง และจากการสอบถามพบว่า รายได้จากการปลูกผักปลอดสารพิษในโครงการ จำนวน ๒ งาน สามารถสร้างรายได้ต่อปีได้ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งมีรายได้เทียบเท่ากับการทำนา ๓๐ ไร่

   ๑.๑๑ พืชผักที่ปลูกเป็นผักปลอดสารพิษสอดคล้องกับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ

             ๒.จุดอ่อน (Weaknesses)

   ๒.๑ เครื่องสูบน้ำมีเพียงตัวเดียว หากเสียหายจะมีผลกระทบต่อทั้งโครงการ

   ๒.๒ สภาพอากาศมีผลต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์

   ๒.๓ หากบ่อบาดาลแห้งหรือน้ำหมดจะมีผลกระทบต่อทั้งโครงการ

   ๒.๔ ขาดการจัดเก็บข้อมูลในการบริหารโครงการเช่น ปริมาณน้ำ รายได้ การตลาด

   ๒.๕ ขาดการจัดเก็บภูมิความรู้ของโครงการ

   ๒.๖ การปลูกผักปลอดสารพิษให้ผลผลิตไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมี

   ๒.๗ ยังไม่มีการตรวจคุณภาพและรับรองผักปลอดสารพิษ

   ๒.๘ การลงทุนครั้งแรก ใช้เงินลงทุนสูง

             ๓. โอกาส (Opportunities)

   ๓.๑ มีโอกาสในการขยายพื้นที่โครงการ

   ๓.๒ ผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มจากกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

   ๓.๓ มีโอกาสที่แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

   ๓.๔ มีโอกาสในการต้อนรับผู้นำระดับสูงของประเทศ

             ๔. อุปสรรค (Threat)

  ๔.๑ มีแมลงศัตรูพืช และโรคพืช

  ๔.๒ ยังไม่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักปลอดสารพิษ

  ๔.๓ ยังไม่มีแหล่งจำหน่ายผักปลอดสารพิษที่เหมาะสม

๒.๒ สรุปผลการวิเคราะห์
   จากผลการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านแดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์  สรุปได้ว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมีจุดจุดแข็งที่สำคัญคือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีศักยภาพที่สูงในการผลิตพลังงาน เพื่อใช้ในการสูบน้ำบาดาลซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอ มาเพื่อใช้ในการปลูกผักปลอดสารพิษของโครงการ  นอกจากนั้นการที่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงาน ประกอบกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ให้การสนับสนุนหรือไม่ต่อต้านโครงการ และการที่ปลูกผักปลอดสารพิษสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกได้จริง จึงทำให้โครงการประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและสามารถเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ชุมชนอื่นอย่างดี จากผลสำเร็จดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้มีการขยายโครงการเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆของหมู่บ้าน หรือสามารถขยายโครงการไปยังชุมชนอื่นๆได้อย่างมีศักยภาพ การมีรายได้เพิ่มเติมจากการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ และการดูงานของหน่วยราชการหรือประชาชนจากชุมชนอื่นๆ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อสังเกตและสัมภาษณ์สมาชิกผู้ร่วมโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้พบจุดอ่อนที่สำคัญคือ การที่ทั้งโครงการมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้โดยใช้เครื่องสูบน้ำเพียง ๑ ชุดนั้นหากอุปกรณ์ดังกล่าวเกิดชำรุดกะทันหัน  อาจทำให้การดำเนินโครงการหยุดชะงักลงได้ นอกจากนั้นหากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงมีแดดน้อย อาจส่งผลต่อพลังงานในการสูบน้ำ รวมถึงพบว่าการดำเนินโครงการขาดการบันทึกข้อมูลการบริหารและภูมิความรู้ที่เกิดจากการบริหารโครงการนั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงการในอนาคต สำหรับอุปสรรคในการดำเนินการที่สำคัญเกิดจากการที่สมาชิกปลูกผักปลอดสารพิษ จึงไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืช ดังนั้นจึงเกิดการทำลายพืชผักจากแมลงศัตรูพืชและโรคพืชอยู่ตลอดเวลา รวมถึงในปัจจุบันยังไม่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักปลอดสารพิษ และยังไม่มีการนำผลิตผลไปจำหน่ายในตลาดที่เหมาะสม จึงทำให้รายได้จากการจำหน่ายผลิตผลผักปลอดสารพิษ มีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น